สรุปประเด็นการลงทุน
ก่อนสัปดาห์วันที่ 10 - 14 พฤษภาคม 2564

เขียนเมื่อ: 09 May 2021

ประเด็นน่าสนใจ

  1. ตลาดหุ้นยังเดินหน้าปรับขึ้นต่อไป แม้แต่อินเดียที่โควิดกำลังระบาดหนัก โดย Dow Jones +2.67%, S&P500 +1.23%, NASDAQ -1.51%, EU STOXX 600 +1.72% (ยุโรป), CSI300 -2.49% (จีน), TOPIX +1.83% (ญี่ปุ่น), SENSEX +0.87% (อินเดีย), VN100 +1.42% (เวียดนาม), SET +0.12%

  2. ตลาดจีนยังโดนกดดัน แม้ตัวเลขผลประกอบการของ CSI300 จะเติบโตดี แต่ขาดแรงหนุนด้านสภาพคล่องจากนโยบายรัฐ ที่ยังมุ่งลดหนี้ในประเทศ รวมถึงมีแรงกดดันจากนานาชาติให้ทางการจีนปรับปรุงนโยบายภายในด้านต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน และยังมีประเด็นที่ สหรัฐฯ ยังมีท่าทีดำเนินนโยบายกีดกันการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับจีนต่อไป อย่างไรก็ตาม downside ณ จุดนี้ ถือว่าจำกัด เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจจริงที่แข็งแกร่ง

  3. มีประเด็นที่ Janet Yellen รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารว่า อัตราดอกเบี้ยควรจะต้องมีการปรับขึ้น เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วเกินไป ทำให้ตลาดสหรัฐฯ และยุโรปตกใจร่วงลงไปในวันนั้น อย่างไรก็ตาม Yellen ให้สัมภาษณ์อีกรอบในวันเดียวกันตนไม่ได้ชี้นำนโยบายแต่อย่างใด สุดท้ายธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีอำนาจตัดสินใจนโยบายการเงินอย่างอิสระ

  4. บุคลากรหลายท่านของ FED เอง มีการออกมาให้ความเห็นระหว่างสัปดาห์ว่า ยังไม่กังวลกับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยเห็นว่าเงินเฟ้อตอนนี้เป็นเรื่องชั่วคราว แต่ FED จะเน้นให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป เพื่อให้การจ้างงานกลับมา

  5. รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศ จะใช้มาตรการพิเศษ หารือกับองค์การค้าโลกเรื่องระงับการใช้สิทธิบัตรวัคซีน Covid-19 เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดรุนแรง และขาดแคลนวัคซีน สามารถผลิตและแจกจ่ายวัคซีนได้เร็วขึ้น

  6. หลายประเทศใกล้เข้าสู่การมี Herd Immunity หรือ การมีภูมิคุ้มกันหมู่ โดย Bloomberg ประมาณการว่า สหรัฐฯ, ยุโรป, จีน, และรัสเซีย จะมี Herd Immunity ภายใน 3, 6, 12, และ 12 เดือน ตามลำดับ หากคงอัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ส่วนไทยนั้นจะมี Herd Immunity ใน 42 เดือน

  7. อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกำลังเร่งเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีน และตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% และสร้างสภาวะ Herd Immunity ได้ภายในสิ้นปี 2021

มุมมองนักลงทุนในตลาด (ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน)

  1. เงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะสั้นถึงระยะกลาง (3-6 เดือน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราผู้ติดเชื้อผู้ติดเชื้อโควิดรายวันยังคงลดลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมแบบวัฏจักร (cyclical) จะยังได้เติบโตต่อไปได้ เช่น หุ้นส่วนใหญ่ ในกลุ่มอุตสาหกรรม Dow Jones และ EU STOXX นอกจากนี้หุ้นกลุ่มนี้ก็ยังมีราคา PE ที่ถูกกว่า หากเทียบกับหุ้นกลุ่มเติบโตในดัชนี NASDAQ

  2. Down side ระยะสั้น มีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวในวงกว้าง โดยดูจาก หุ้นในดัชนี S&P500 ที่กว่า 90% มีราคาสูงกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน นอกจากนี้ US Treasury Yield Curve ยังแสดงสัญญาณการเติบโตของเศรษฐกิจแบบปกติ ไม่มีสัญญาณเกิด recession

  3. ตราสารหนี้จีนมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น และน่าสนใจมากกว่าตราสารหนี้ประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากความพยายามลดหนี้ของรัฐบางจีนที่กด supply ลง ในขณะที่ demand จะเริ่มมีมากขึ้น จากความต้องการของนักลงทุนตราสารหนึ้ ที่เชื่อมั่นในเสถียรภาพการเติบโตของจีนในระยะยาว

  4. ตลาดหุ้นไทย ยืนระยะบวกได้ในอาทิตย์ที่ผ่านมา(และตั้งแต่ต้นปี) จากนักลงทุนรายย่อยที่ซื้อสุทธิ ขณะที่ต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันยังขายสุทธิมาอย่างต่อเนื่อง

-ขอให้มีความสุขกับการลงทุนครับ

ALL NEWS